ศาสนาในประเทศไทยที่รัฐบาลให้ความอุปถัมภ์ มีทั้งหมด 5 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ ทุกศาสนามีองค์ประกอบหลักที่สำคัญ ๆ 5 ประการ คือ ศาสดา ศาสนธรรม ศาสนิก ศาสนสถาน และศาสนพิธี
1. ศาสดา หมายถึงองค์ศาสดาที่มีตัวตนอยู่จริง สามารถตรวจสอบยืนยันได้ทางประวัติศาสตร์ ฐานะของศาสดาจะเป็นที่เคารพสักการะของศาสนิกชน
2. ศาสนธรรม เป็นผลสืบเนื่องมาจากศรัทธา หรือ สืบเนื่องมาจากปัญญาของศาสดา ศาสนิกชนนับถือในฐานะสิ่งสูงสุด จะต้องให้ความเคารพสักการะ เทอดทูน แม้แต่ตัวคัมภีร์ที่ใช้จารึกคำสอน
3. ศาสนิกชน คือ ปวงชนที่ให้การยอมรับนับถือในคำสั่งสอนศาสนา นั้น ๆ ปกติมี 2 ประการหลัก คือ นักบวชและผู้ครองเรือน หรือบางศาสนาแม้จะไม่มีนักบวช แต่มีคนทำหน้าที่ฝึกอบรม สั่งสอนศาสนิก
4. ศาสนสถาน ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของนักบวช การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จนถึงเป็นที่รวมองค์ประกอบหลักของศาสนาทั้งหมดในศาสนสถาน ฐานะ ของศาสนสถานจึงเป็นสมบัติของศาสนา
5. ศาสนพิธี พิธีกรรมที่ถูกกำหนดขึ้นจากศาสดาโดยตรง หรือศาสนิกคิดค้นขึ้น มีเนื้อหาโดยสรุปคือ มุ่งขจัดความไม่รู้ ความกลัว ความอัตคัด สนองตอบความต้องการในสิ่งที่ตนขาดแคลนจำเป็นต้องมีวัตถุประสงค์ของการศึกษา ค้นคว้าปฏิบัติตามหลักของศาสนา
แม้ประเทศไทยจะมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ทางราชการได้ให้ความสำคัญด้านศาสนามาก ดังจะเห็นได้จากการกำหนด วันหยุดราชการในวันศาสนพิธีสำคัญ ๆ คือวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา เพื่อให้ พุทธศาสนิกชนได้ปฏิบัติศาสนพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน ในส่วนของศาสนาอื่นนั้นรัฐบาลก็ได้เอื้อเฟื้อต่อคนไทยที่นับถือ ศาสนานั้น ๆ และให้ความอุปถัมภ์ตามโบราณราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์ไว้ ซึ่งได้แก่ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ และในวันสำคัญของศาสนาอื่น ๆ ศาสนิกชนก็สามารถปฏิบัติ พิธีกรรมทางศาสนาของตนเองได้เช่นกัน ดังนั้นเพื่อเป็นการให้องค์ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาสนาในประเทศไทย รายงานบทนี้จึงขอเสนอประวัติความเป็นมาของแต่ละศาสนา